วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความยุติธรรม

ความยุติธรรม

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

          การศึกษามีความสำคัญต่อการส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมได้อย่างไร                ความยุติธรรมแบบปัจเจก
Imageปัญหาทุกวันนี้ คนไม่เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา เพราะสังคมปัจจุบันให้ความสำคัญมากต่อการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว หรือสิ่งที่ตนเองพึงได้รับ มากกว่าความเห็นอกเห็นใจและการช่วยเหลือเกื้อกูล ความยุติธรรมในสังคมปัจจุบัน เป็นผลสะท้อนสังคมแบบปัจเจกนิยม เป็นความยุติธรรมแบบอัตตา เช่น จะยุติธรรมก็ต่อเมื่อฉันเป็นฝ่ายได้ก่อนคนอื่น ได้มากกว่าคนอื่น หรือจะยุติธรรม ก็ต่อเมื่อฉันเสียน้อยกว่าคนอื่น ซึ่งพอสรุปได้ว่า ความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมแบบปัจเจกนี้ เป็นผลมาจากการศึกษา และระบบการเรียนการสอนที่ปลูกฝังเรื่องการแข่งขัน กล่าวคือ ต้องได้ดีกว่าคนอื่น ต้องเก่งกว่าคนอื่น ต้องมีความสามารถกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นการหล่อหลอมวิธีคิด และการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนเองก่อน คนอื่นทีหลัง

                สถานศึกษา / โรงเรียน เป็นกลไกของสังคมที่มีหน้าที่สำคัญ คือ

    1  เป็นสถาบันที่หล่อหลอมความคิด และประสบการณ์ชีวิตเข้าด้วยกัน กลายเป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมมาตามวุฒิภาวะ อันจะเป็นพื้นฐานของการสร้างอุดมการณ์และบุคลิกภาพในชีวิต
    2  ปลูกฝังคุณธรรม สร้างมโนธรรม อบรมบ่มนิสัยและขัดเกลาชีวิตของผู้เรียนให้เป็นคนดี มีจริยธรรม มีความสุข มีความสำนึกดีต่อผู้อื่น ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสังคม ยืนหยัดอยู่บนความถูกต้องและเคารพในศักดิ์ศรี และความต่างของกันและกัน
    3  สร้างบรรยากาศแห่งการอยู่ร่วมกันฉันพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน มีความอบอุ่น มีความรัก ความเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือผู้อื่น และร่วมกันพัฒนาศักยภาพและบุคลิกภาพของผู้เรียนและบุคลากรในสถานศึกษา
   4  สถานศึกษา / โรงเรียนคาทอลิก จึงเป็นกระบวนการหล่อหลอมชีวิตมุ่งสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นพันธกิจสำคัญในการร่วมงานกับพระเจ้า พระผู้สร้างในงานเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนตามวัยและวุฒิภาวะ

ความขัดแย้ง

ความขัดแย้ง

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความขัดแย้งในสังคมไทยในอดีตมีมาเรื่อย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำที่ยุติลงด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิ.ย.2475 หลังจากนั้นก็เกิดความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2492-2525  ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยนโยบายการให้อภัย ตามคำสั่งที่ 66/2523 ต่อมาก็เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเผด็จการกับกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชน อันก่อให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และพฤษภาทมิฬ 2535


แต่ความขัดแย้งที่ผ่านมายังไม่มีความรุนแรงเท่าความขัดแย้งทางการเมืองยืดเยื้อ เรื้อรังในขณะนี้ ที่เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2548 และพัฒนามาเป็นความขัดแย้งระหว่าง “เสื้อเหลือง” กับ “เสื้อแดง” อยู่จนถึงทุกวันนี้ ความขัดแย้งยาวนานนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงอย่างไร แต่ที่แน่ใจได้ก็คือ ผลกระทบของมันมีความรุนแรงมากหลายด้าน ดังนี้


1.ความขัดแย้งดังกล่าวถูกกระพือให้เป็นความขัดแย้งร้าวลึกระหว่างประชาชน ลุกลามไปทุกที่ ไม่ว่าในครอบครัว ในบรรดาเพื่อนฝูงที่ทำงาน จนแม้ระหว่างคนในภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะคนภาคเหนือและภาคอีสานฝ่ายหนึ่ง กับคนภาคใต้ ถึงขั้นที่มีการตั้งคำถามถึงเอกภาพและบูรณภาพของความเป็นชาติไทยเลยทีเดียว หากไม่สามารถระงับความรู้สึกแตกแยกรุนแรงนี้ ให้ยุติลงได้ในอนาคตอันใกล้ ก็ไม่แน่ว่าอุดมการณ์ความเป็นชาติไทยหนึ่งเดียวจะสั่นคลอนเพียงใด

2. ไม่มีความขัดแย้งครั้งใดที่เกือบทุกสถาบันหลักของประเทศถูกตั้งคำถามถึงความ ชอบธรรม และบทบาทมากที่สุด อย่างในเวลานี้ รัฐบาลพลังประชาชนประชาชนของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ถูกคนเสื้อเหลืองประท้วงยืดเยื้อ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็ถูกคนเสื้อแดงประท้วงไม่เลิก รัฐสภาก็ถูกตั้งฉายาที่แสดงให้เห็นการไม่ยอมรับ องค์กรอิสระก็ถูกท้าทายและไม่ยอมรับ ศาลซึ่งไม่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ถูกวิพากษ์อย่างเปิดเผย สถาบันองคมนตรีซึ่งควรอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง ก็เป็นเป้าการโจมตีของคนบางกลุ่ม! วิกฤติความเป็นธรรมนี้บั่นทอนความเชื่อมั่น (Trust) ในสถาบันทั้งหลาย และอาจนำมาซึ่งความล่มสลายของประชาธิปไตยได้หากปล่อยให้ยืดเยื้อ

3.หลักนิติธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในบ้านเมืองถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงโดยรัฐเองและประชาชน การทุจริตที่ปรากฏเป็นข่าวมากมายในฝ่ายการเมืองและข้าราชการแสดงให้เห็นความไม่แยแสต่อกฎหมายของผู้มีอำนาจ ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการที่ฝูงชนทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดงสามารถกระทำการท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายได้โดยมิได้มีอะไร เกิดขึ้น ทำให้มีการตั้งคำถามกันว่า รัฐไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed State) ที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศได้หรือไม่? ยิ่งถ้าดูเทียบกับดัชนีวัดหลักนิติธรรมของสถาบันธนาคารโลก (World Bank Institute) แล้ว ก็จะพบว่าในปี 2550 สถานะของหลักนิติธรรมในอาเซียนนั้น เราดีกว่าเพียงพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม และฟิลิปปินส์เท่านั้น

4. การลุกลามของความขัดแย้งในประเทศเป็นปัญหาระหว่างประเทศของไทยกับเพื่อนบ้าน คือกัมพูชา ซึ่งถ้าไม่จัดการให้ดีก็จะกระทบกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งอาจลุกลามไปสู่ภูมิภาคก็เป็นได้


5. ผลกระทบทางเศรษฐกิจนั้น ยังไม่มีสถาบันใดทำตัวเลขให้เห็นชัดสำหรับความสูญเสียดังกล่าวของประเทศไทย แต่ถ้าเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ที่ความรุนแรงของความขัดแย้งของสังคมน้อยกว่า ไทยมาก ก็จะเห็นความน่ากลัว จากรายงานของสถาบันพัฒนาเกาหลี (Korean Development Institute) ในปี 2549 ซึ่งระบุว่ามีการเดินขบวน 11,036 ครั้ง ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจถึง 5.6 –9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  ประเทศไทยมีความรุนแรงกว่ามาก แต่ยังไม่มีใครทำตัวเลขออกมาทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นผลที่เกิดขึ้นแล้ว แต่ถ้าดูผลที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่จะเกิดขึ้นในระยะต่อๆ ไปก็คือ ความเชื่อมั่นของสังคมโลกต่อประเทศไทย ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม คงถูกกระทบอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

ความหลากหลาย

ความหลากหลาย

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555


ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

แม้เมืองไทยมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงแต่แบบเรียนไม่ถือเป็นลักษณะสำคัญที่จะแนะนำให้เด็กไทยรู้จักนัก ทว่าในชีวิตจริง ไม่ว่าจะถูกสั่งสอนในโรงเรียนมาอย่างไร คนไทยก็ได้เห็นความแตกต่าง ทางวัฒนธรรมอยู่เต็มตา ตลอด เพียงแต่ว่าคำสอนจากโรงเรียนทำให้คนไทยมองความแตกต่างนี้ว่าเป็นความเพี้ยน หรือการแปรเปลี่ยน ของวัฒนธรรมที่เป็นเนื้อเดียวกันเท่านั้น
เรียกให้ฟังขลังๆ ว่า "อนุวัฒนธรรม" เป็นแค่เมียน้อยของวัฒนธรรมกระแสหลัก ที่ใช้กันในคนบางกลุ่มบางเหล่า แต่ก็ยังร่วมสังกัดในครอบครัววัฒนธรรมกระแสหลักนั่นเอง
เมื่อผมเป็นเด็ก มีเพื่อนคนหนึ่งเขาไปเที่ยวอีสานมา แล้วกลับมาบอกผมว่าคนอีสานพูดภาษาไทยไม่ชัด นั่นคือภาษา ลาวถูกถือเป็นภาษาไทยที่บิดเบี้ยวไป ไม่ใช่ภาษาถิ่นต่างหาก อีกภาษาหนึ่ง เหมือนกับภาษากรุงเทพฯ ก็เป็นภาษาถิ่น อีกภาษาหนึ่งในตระกูลภาษาไทย
การกลืนความหลากหลายแตกต่างทางวัฒนธรรมเช่นนี้เริ่มจะแค้นคอมากขึ้น เมื่อเราต้องเผชิญกับ "ชาวเขา" หรือชาวเขมร (สูง) และกูยในอีสานล่าง, หรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในตระกูลภาษาไทย แต่จะถือว่า รัฐไทยโชคดีก็ได้ เพราะความหลากหลายแตกต่างทางวัฒนธรรมช่วงนี้ โผล่มาพร้อมกันกับการท่องเที่ยว หรืออาจเป็นไปได้ด้วยว่าการท่องเที่ยวนั่นแหละที่ไปดึงเอาความหลากหลายแตกต่างเหล่านี้ให้ปรากฏขึ้นในสังคม
สังคมไทยยอมรับอย่างไม่ยากนักว่า ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นความมั่งคั่ง... แหะๆ ก็มีบางคน ได้เงินจากการเอาชาวเขามาเต้นระบำให้ดูจริงๆ นี่ครับ...
พูดกันอย่างไม่ประชดก็คือ เป็นการยอมรับปลอมๆ เพราะไม่ได้ยอมรับแบบให้เกียรติให้คุณค่า (ไม่ใช่ให้มูลค่า) แก่วัฒนธรรมที่แตกต่าง ในขณะที่ชื่นชมกับการแข่งรถไม้ลงภูเขาของชาวม้ง, หรือการเต้นรำฉลองของชาวอาข่า หรือการเล่นดนตรีประกอบ "ทา" ของชาวกะเหรี่ยง แต่เราไม่ยอมรับวิถีชีวิตที่เป็นจริงของเขา เรามองการ ทำไร่หมุนเวียนของเขาเท่ากับการทำไร่เลื่อนลอย จึงบีบบังคับให้เขาหยุดด้วยการ ทำไร่บนพื้นที่ กรรมสิทธิ์ เฉพาะบุคคล เหมือนกับวิชาทำไร่ของพวกเราชาวพื้นราบ เรากวาดต้อนชาวม้งจำนวน มากมาอยู่ในค่ายกักกัน บนพื้นราบ โดยไม่ใส่ใจกับการจัดองค์กรทางสังคมของเขา หรือช่องทางทำมาหากินที่เขารู้จักและชำนาญ
แม้แต่การละเล่นและการเต้นรำของเขาก็ถูกเราดัดแปลงให้เหมาะกับการเป็นมหรศพ เพื่อขายนักท่องเที่ยว
ความตระหนักในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมไทยจึงแปลกๆ อยู่ เพราะเป็นการนำเอา วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลายนั้นมาอยู่ภายใต้การครอบงำของวัฒนธรรมเดียว ไม่ใช่วัฒนธรรม "ไทย" นะครับ แต่อยู่ภายใต้การครอบงำของวัฒนธรรมพานิชยนิยมต่างหาก (รวมทั้งวัฒนธรรม "ไทย" เองก็ถูกนำไปอยู่ใต้ร่ม เดียวกันด้วย อยากดูโขนหรือครับ โน่น โรงแรมห้าดาวเขาจัดแสดง "โขนเคล้าข้าว" ให้แขกของเขาได้ชมทุกมื้อ อาหารเย็นแหละ)
สถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ครั้งนี้ นำเอาความแตกต่างทางวัฒนธรรมในสังคมไทยให้ปรากฏขึ้น ในอีกรูป แบบหนึ่ง นั่นก็คือ เอาไปขายให้นักท่องเที่ยวไม่ได้ ซ้ำปรากฏตัวในรูปของความ "ไม่ไทย" อย่างชัดเจน อันที่จริงออกจะมีความระแวงสงสัยคำว่า "ไทย" ที่ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อแต่ไม่ชัดเจนด้วย
ถ้า "ไทย" แปลว่าพุทธ ชาวมลายูในภาคใต้ประกาศชัดเจนว่าเขาไม่ใช่ ถ้า "ไทย" แปลว่าต้องพูดไทยได้ อ่านภาษาไทยออก ดูโขนเป็น หรือนุ่งโจงกระเบน แล้วร้องเพลงไทย (เดิม) เขาก็ทำไม่เป็นและคงไม่อยากทำด้วย เพราะเขายังอยากเป็นมลายูเหมือนเดิม "ไทย" ในเงื่อนไขเดียวที่เขารับได้ก็คือความเป็นพลเมืองของ รัฐที่เรียก ตัวเองว่าไทย และพึงได้รับสิทธิทุกอย่างตามที่รัฐธรรมนูญของประเทศนี้กำหนดไว้ให้แก่พลเมืองของตัว
เวลาคนไทยทั่วๆ ไปพูดถึง "ไทย" ไม่ชัดว่าหมายถึงอะไรกันแน่ ฉะนั้น ผมจึงไม่แน่ใจว่าคำขวัญประเภท "รักกันไว้ เราไทยด้วยกัน" ในทัศนะของชาวมลายูในภาคใต้ ปลุกความสามัคคีหรือความแตกแยกกันแน่
ความเป็นมลายูอย่างที่เขาเป็น ซึ่ง "ไม่ไทย" และเอาไปขายนักท่องเที่ยวไม่ได้ จึงเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งชาติไทย (และคนไทยอื่นๆ) ต้องกลืนลงไปให้ได้ ถ้าอยากรักษาความเป็นประชาชาติไทยของเราไว้
นักวิชาการจำนวนมากชี้ประเด็นความอิหลักอิเหลื่อทางวัฒนธรรมตรงนี้ออกมาหลายคนเสนอว่าควรปรับเปลี่ยน
ระบบการศึกษา (ซึ่งต้องหมายรวมถึงการเรียนรู้ผ่านสื่อมวลชนด้วยไม่ใช่เฉพาะห้องเรียน) เพื่อสร้างความรู้ความ เข้าใจแก่คนไทยว่า คนที่แตกต่างจากเราทางวัฒนธรรมโดยสิ้นเชิงนั้นก็มีสิทธิในชาติเท่าเทียมกับเรา วัฒนธรรม ของแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายล้วนมีรากเหง้าฝังลึกอยู่ในแผ่นดินนี้ พัฒนาคลี่คลายมาตามลำดับ มีความลุ่มลึก และมีปัญญาญาณอันลึกซึ้งอยู่ในวัฒนธรรมนั้นๆ ทั้งสิ้น และนี่คือความ "มั่งคั่ง" ที่แท้จริงของความหลาก หลายทางวัฒนธรรม ไม่ใช่เพราะจะเอาไปขายใครได้ แต่เพราะความหลากหลายทางวัฒนธรรมย่อม ให้ทางเลือกที่หลากหลายแก่สังคมไปพร้อมกัน

เช่นในขณะที่กลไกทางวัฒนธรรมที่ช่วยพยุงให้คนจนพออยู่ได้ในวัฒนธรรมไทยเสื่อมสลายไปเกือบหมดเช่นนี้ เราอาจเรียนรู้และปรับใช้กลไกทำนองเดียวกันนี้ซึ่งยังค่อนข้างมีชีวิตชีวาอยู่ในสังคมมลายูมุสลิมได้ การจัดการ ศึกษาที่ทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการควบคุมโรงเรียนระดับหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเดียวตาม พ.ร.บ.การศึกษา (ซึ่งกำลังถูกทำให้เป็นหมันอยู่เวลานี้) เราอาจเรียนรู้การจัดการตาดีกาและปอเนาะในชุมชนมลายูมุสลิม ซึ่งทำให้ เกิดดุลยภาพทางอำนาจที่เหมาะสมระหว่างชาวบ้านและโต๊ะครูได้
นี่แหละครับคือความมั่งคั่งที่แท้จริงของความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ถ้าเกิด "สำนึก" ใหม่ในสังคมไทยอย่างที่นักวิชาการผลักดันอยู่เวลานี้ ก็ต้องถือว่าเป็นก้าวที่สร้างสรรค์ อย่างสำคัญเพราะเราจะเริ่มเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมอันมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างไม่ต้องยกตนข่มท่าน
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีการปลูกฝัง "สำนึก" ใหม่ผ่านการศึกษา (ในความหมายกว้างกว่าโรงเรียน) ผมคิดว่ายังมี ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอีกมิติหนึ่งซึ่งสังคมไทยน่าจะเรียนรู้ไปด้วย
น่าสังเกตนะครับว่า ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมที่พูดถึงกันมากในสังคมไทย ไม่ว่าจะมองว่า เป็นปัญหาหรือมองว่าเป็นพลังก็ตามล้วนเป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีการยกขึ้นมาให้ความสำคัญอยู่เวลานี้ แม้ในวงวิชาการเอง ก็เป็นเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์...มอญ, เขมร, กุย, เจ๊ก, และมลายู
แต่ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ซึ่งวงชีวิตของแต่ละคนต้องเข้าไปสัมพันธ์กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่กว้างขวางทั้งสิ้น ทำให้เราต้องเผชิญกับวัฒนธรรมที่แตกต่างได้โดยไม่สัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างอีกหลายอย่าง
ตัวอย่างง่ายๆ ที่เราทุกคนเผชิญอยู่ก็ได้ครับ วัฒนธรรมเกย์ไงครับ
เรามักจะนึกถึงความแตกต่างของเกย์เพียงด้านเดียวคือรสนิยมทางกามารมณ์ แต่จะเป็นเพราะรสนิยมนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับหรือเพราะอะไรก็ตาม มันไปมีผลต่อระบบความสัมพันธ์ของเขากับมนุษย์คนอื่นด้วย นั่นก็คือทำให้เขาอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ได้เหมือนกับคนอื่น และผมเรียกว่าวัฒนธรรมเกย์
ตราบเท่าที่เราไม่เข้าใจ หรืออย่างน้อยมีใจที่ยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมของเขา ก็ยากที่เราจะยอมรับเกย์อย่างมนุษย์ที่เท่าเทียมกับเราได้ ทำนองเดียวกับการไม่ยอมรับให้กะเหรี่ยงเป็นกะเหรี่ยง, เย้าเป็นเย้า, มลายูเป็นมลายูแหละครับ
ผลก็คือ เกย์ถูกรังเกียจ ถูกเลือกปฏิบัติ หรือแม้แต่ถูกรังแกในรูปแบบต่างๆ ไม่มีใครมีความสุขเลย เกย์ก็ไม่มี ความสุข คนอื่นก็ไม่มีความสุข (ยกเว้นนักจิตวิทยาที่หากินกับการหลอกลวงคนอื่นว่าสามารถรักษาเกย์ได้)

ถ้ามองให้กว้างไปกว่าเกย์ ยังมี "อนุวัฒนธรรม" ที่คนไทยไม่ยอมทำความเข้าใจในแง่นี้อีกเยอะแยะนะครับ ผู้ติดเชื้อ, ชาวสลัม, คนเร่ร่อน, ขอทาน, เด็กเร่ร่อน, คนติดยา, หาบเร่, ซาเล้ง, หรือแม้แต่กรรมกร, ชาวนา, พระ, วัยรุ่น, นักศึกษา, อาชีวะ, กะปี๋, โชเฟอร์สิบล้อ ฯลฯ แล้วก็ได้ผลอย่างเดียวกันกับเกย์ คือไม่มีความสุขสักฝ่ายเดียว แม้แต่จะแก้ไขอะไรที่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคมก็ทำไม่ได้
ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามีเพียงสองสถาบันที่ให้ความสนใจความหลากหลายทางวัฒนธรรมเช่นนี้อย่างจริงจัง
สถาบันแรก คือศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ซึ่งได้ส่งเสริมให้มีการศึกษาหรือส่งเสริมให้ผู้ศึกษาได้ เผยแพร่ความรู้เกี่ยว กับ "อนุวัฒนธรรม" เหล่านี้ ผมคิดว่าเป็นงานที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นงานประเภท "บุกเบิก" ที่มีนัยะสำคัญทั้งสิ้น
อีกสถาบันหนึ่งคือ "การตลาด" ของพ่อค้าครับ ความรู้เกี่ยวกับ "อนุวัฒนธรรม" เหล่านี้ ทำให้พ่อค้าวางสินค้า ได้ตรงเป้า ลงทุนกับการตลาดน้อยลงเมื่อเทียบกับผลกำไรที่ได้คืนมา สรุปง่ายๆ ก็คือ หาและมีความรู้ เพื่อเอาไปทำกำไร เพราะเป็นคุณค่าของความรู้เพียงอย่างเดียวที่พ่อค้ารู้จัก... แต่ประโยชน์ที่สังคมจะได้รับไม่มี
คราวนี้สังคมไทยก็ต้องเลือกเอาเองล่ะครับว่าอยากให้การสร้างสรรค์ความรู้ในสังคมของเรา
นั้นควรทำเพื่ออะไร

ค่านิยมและการรับรู้สัมผัส

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

            ค่านิยม หมายถึง สิ่งที่สังคมถือว่ามีค่าพึงปราถนาต้องการให้เป็นเป้าหมายของสังคมและปลูกฝังให้สมาชิกของสังคมยึดถือเป็นเป้าหมายในการดำเนินชีวิตควรหลีกเลี่ยง เช่น ความยากจน สิ่งมีคุณค่า น่าปราถนา หรือนำความสุขมาให้มีทั้งเป็นวัตถุและไม่เป็นวัตถุ
          
            ค่านิยมเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาได้เช่นเดียวกันกับความเชื่อและมีความแตกต่างกันไปตามสังคมและวัฒนธรรมค่านิยมส่วนใหญเนื่องมาจากความเชื่อ
          
            ค่านิยมไทยใหม่จะมีลักษณะสากลมากขึ้น เช่น นิยมยกย่องวัตถุ ความมั่นคง ความหรูหราฟุ่มเฟือย ความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ยึดมั่นในประเพณี ชื่นชมวัฒนธรรมตะวันตก และเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะการใช้โทรศัพท์มือถือ อำนาจและเกียรติยศชื่อเสียง การดูแลรักษาสุขภาพด้วยโภชนาการ และการออกกำลังกาย
        การรับรู้/การสัมผัสรู้เป็นปัจจัย 1 ใน 3 ปัจจัยการรู้ (awareness) ที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค การรับรู้/การสัมผัสรู้เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่บุคคลมีการมองเห็นหรือพิจารณาเกี่ยวกับตนเองและโลกของบุคคลว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการรับรู้เป็นปัจจัยหนึ่งที่แยกออกไปไม่ได้จากพื้นฐานอื่นๆ เนื่องจากความต้องการของบุคคลและแรงจูงใจต่างๆ คือสิ่งที่บุคคลได้รับรู้และทำให้บุคคลแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ส่วนหนึ่งก็เพราะบุคคลมีการรับรู้/การสัมผัสรู้ที่แตกต่างกัน แะนั้นในบทนี้จึงเป็นเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นผลมาจากการรับรู้/การสัมผัสรู้ ซึ่งจำเป็นต้องทราบตั้งแต่ความหมาย ผลกระทบของการรับรู้ที่มีต่อการตลาด คุณลักษณะของการรับรู้ที่มีผลต่อผู้บริโภค แนวความคิดที่สำคัญที่ว่าด้วยการเลือกสรรสิ่งที่ได้รับรู้ ตลอดทั้งกระบวนการรับรู้ของผู้บริโภค และปัจจัยที่มีผลต่อการรับรู้ของผู้บริโภคอันจะเป็นประโยชน์ต่อนักการตลาดที่จะได้เข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคแต่ละคนที่แตกต่างกันเพื่อนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้ดียิ่งขึ้นได้
     ความหมายของการรับรู้/การสัมผัสรู้ (Definition of perception)
     การรับรู้ (perception) สามารถอธิบายได้อย่างสั้นๆ คือ วิธีการที่บุคคลมองโลกที่อยู่รอบๆ ตังของบุคคล ฉะนั้นบุคคล 2 คนอาจมีความคิดต่อตัวกระตุ้นอย่างเดียวกันภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน แต่บุคคลทั้ง 2 อาจมีวิธีการยอมรับถึงตัวกระตุ้น (recognize) การเลือกสรร (select) การประมวล (organize) และการตีความ (interpret) เกี่ยวกับตัวกระตุ้นดังกล่าวไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ยังขึ้นกับพื้นฐานของกระบวนการของบุคคลแต่ละคนเกี่ยวกับความต้องการ ค่านิยม การคาดหวัง และปัจจัยอื่นๆ ดังนั้น การรับรู้สามารถให้คำจำกัดความได้ดังนี้
การรับรู้ (perception) หมายถึง “กระบวนการที่บุคคลแต่ละคนมีการเลือก การประมวลและการตีความเกี่ยวกับตัวกระตุ้นออกมาให้ความหมายและได้ภาพของโลกที่มีเนื้อหา” (Schiffman and Kanuk .19991:146)
นอกจากนี้ การรับรู้ยังสามารถอธิบายได้อย่างง่ายๆ คือหมายถึง “กระบวนการการตีความที่ผ่านประสาทสัมผัสใดๆ โดยตรง” ซึ่งจากความหมายนี้คำที่จะสื่อความหมายเดียวกับการรับรู้ การสัมผัสรู้ อันเป็นการรู้ที่เกิดจากการรับความรู้สึกเข้ามาทางประสาทสัมผัสเกิดเป็นความเข้าใจหรือความรู้สึกภายในของบุคคล แต่อย่างไรก็ตามจะขอใช้คำว่าการรับรู้ตลอดทั้งบทต่อไป ดังนั้นกล่าวอีกอย่างคือ การรับรู้ หมายถึง “การตีความหมายใจจิตใจของบุคคลที่จะทำให้เกิดการได้รู้ได้เข้าใจ”
ดังนั้นการรับรู้ทุกครั้งที่เกิดขึ้นจะต้องมีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เพื่อทำการตีความบางสิ่งบางอย่าง หรือเหตุการณ์ หรือความสัมพันธ์ในฐานะเป็นสิ่งที่สัมผัสรู้อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องในฐานะเป็นสิ่งที่สัมผัสรู้ โดยการผ่านประสาทสัมผัส มนุษย์ทุกคนรู้ทุกสิ่งในโลกโดยผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัส เมื่อผู้บริโภคบอกว่า ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ให้ข้อเสนอที่ดีกว่าในการซื้อขาย นั่งแสดงว่าบุคคลได้บอกถึงบางสิ่งบางอย่างที่บุคคลได้สัมผัสรู้มาจากประสบการณที่ผ่านเข้ามาทางการสัมผัส วิธีการที่ผู้บริโภคคิดและกระทำจะเป็นผลมาจากการรับรู้ถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในสิ่งแวดล้อมนั้นๆ วิธีการนี้ผู้บริโภคมีการจัดการกับข้อมูลใหม่ๆ ที่รับเข้ามาโดยการประมวลและตีความถึงสิ่งกระตุ้นที่เข้ามากระทบประสาทสัมผัสของผู้บริโภค ซึ่งก็คือ การรับรู้นั่นเอง
จากประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า ทัศนคติ ความต้องการและแรงจูงใจต่างเป็นเงื่อนไขที่จะเกิดการรับรู้ของบุคคล การรับรู้ถึงความต้องการและแรงจูงใจทำให้มีการเปลี่ยนทัศนคติได้ และทัศนคติก็เป็นเงื่อนไขที่มีผลต่อวิธีการรับรู้ของผู้บริโภค นอกจากนี้ กลยุทธ์การซื้อของผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบที่มาจากการรับรู้ด้วย โดยบุคคลจะมีการรับรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ วิธีการได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ และนำไปสู่การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะได้ การที่บุคคลมีการรับรู้ถึงการขาดในผลิตภัณฑ์อาจนำไปสู่การกระทำทางการตลาดได้
ฉะนั้นเพื่อให้เข้าใจความหมายของการรับรู้ได้ดียิ่งขึ้น เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงสิ่งต่อไปนี้คือ (1) การรับรู้และความรู้สึกจากการสัมผัสเป็นสิ่งที่ไม่เหมือนกัน (2) การตอบสนองของผู้บริโภคมีรากฐานมาจากการรับรู้ (3) การรับรู้จะเกี่ยวข้องกับความต้องการและแรงจูงใจของผู้บริโภค และ (4) การรับรู้ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงได้

การพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน


                            ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ  เนื่องจาก
จำนวนประชากรมนุษย์ในโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว
 ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าทาง
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้เกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ
  ตามมา  แต่การพัฒนาของ
ประเทศต่าง ๆ
  ทั่วโลกที่ผ่านมาเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มุ่งการเจริญเติบโตของภาค
อุตสาหกรรม
  และการส่งเสริมการบริโภคของประชากรภายในประเทศให้สูงขึ้น  การพัฒนาดังกล่าวจึงเป็นการเร่งรัดให้มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์อย่างรวดเร็ว   จนกระทั่งทำให้สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวมเร็วมากเกินกว่าระดับการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ  จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้นภายในประเทศของตน  ด้วยเหตุนี้ทุกประเทศในโลกจึงหันมาให้ความสนใจที่จะช่วยกันและร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว  ซึ่งกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่าง      ให้ความสนใจมากที่สุดในปัจจุบัน  คือ  การพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน  (Environment  sustainable  development)  
         
สำหรับประเทศไทยได้เริ่มให้ความสนใจในแนวคิด เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมาตั้งแต่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ฉบับที่  7  (พ.ศ. 2535 - 2539)    โดยเน้นการพัฒนาชนบทให้มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเน้นการกระจายรายได้     ควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สิทธิมนุษยชล

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

 
สิทธิมนุษยชนกับสังคมไทย
      กระแสแห่งโลกยุคปัจจุบัน เป็นกระแสของโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจทุนนิยม ยุคแห่งข้อมูลข่าวสารและความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งสิ่งจำเป็นสำหรับพื้นฐานของประชาธิปไตยที่เป็นกระแสการวิพากษ์และการศึกษาทั่วโลกที่สำคัญประเด็นหนึ่งก็คือ กระแสเรื่องสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ในงานเขียนชิ้นนี้จึงมุ่งไปที่จะศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชน ในการที่จะเป็นหลักประกันของสิทธิเสรีภาพ วิถีชีวิตของปัจเจกชนจนนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ดังจะกล่าวต่อไปนี้
1.ความหมายของสิทธิมนุษยชน
       สิทธิมนุษยชน (Human Rights) หมายถึง สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเท่าเทียมกันในแง่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิ เพื่อดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ ภาษาศาสนา และสถานภาพทางกายและสุขภาพรวมทั้งความเชื่อทางการเมือง หรือความเชื่ออื่นๆที่ขึ้นกับพื้นฐานทางสังคม สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดหรือโอนให้แก่ผู้อื่นได้ (ชะวัชชัย ภาติณธุ, 2548:29)
2. ความสำคัญของสิทธิมนุษยชน
      สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญในฐานะที่เป็นอารยะธรรมโลก (World Civilzation) ของมนุษย์ที่พยายามวางระบบความคิดเพื่อให้คนทั่วโลกเกิดความระลึกรู้ คำนึงถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่ยอมรับความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรี ชาติกำเนิด สิทธิต่างๆที่มีพื้นฐานมาจากความชอบธรรม ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งสิทธิตั้งแต่กำเนิด โดยให้ความสำคัญกับคำว่าชีวิต (Life) (ชะวัชชัย ภาติณธุ,2548:3) นอกจากนี้แล้วสิทธิมนุษยชนยังมีความสำคัญในแง่ของการเป็นหลักประกันของความเป็นมนุษย์สิทธิและ เสรีภาพ และสภาวะโลกปัจจุบันเรื่องของสิทธิมนุษยชนก็ไม่ใช่เรื่องประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องที่สังคมทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ เพราะประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ ผูกพันตามพันธกรณีแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ และที่สำคัญเรื่องของสิทธิมนุษยชนยังได้ถูกนำไปใช้ในทางการเมือง เศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าทำให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปคว่ำบาตรทางการฑูต การงดการทำการค้าด้วย หรือกรณีการส่งกองกำลังทหารของสหประชาชาติเพื่อเข้าไปยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในบอสเนีย เฮอร์เซโกวิน่า และในโคโซโว ของอดีตประเทศยูโกสลาเวีย เป็นต้น (กุมพล พลวัน, 2547:2-3) ด้วยสาเหตุและความสำคัญดังกล่าวมาข้างต้น เราจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะมีความสำคัญทั้งในด้านสังคมโลกและการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทย
3.พัฒนาการสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
      พัฒนาการการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์/สิทธิมนุษยชนในสังคมนั้นมีมายาวนาน สถานการณ์สำคัญของสังคมไทยที่ถือว่าเป็นมิติการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ตั้งแต่ในยุคเริ่มเปิดประเทศภายหลังสนธิสัญญาเบาริ่ง,เหตุการณ์ร.ศ.103 ที่ชนชั้นสูงบางกลุ่มเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุการณ์ร.ศ. 130ที่คณะทหารหนุ่มก่อการกบฏเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง
      การปฎิวัติ 2475 ที่ปรากฏพร้อมหลัก 6 ประการของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งกล่าวถึงหลักสิทธิเสมอภาคและความเป็นอิสรเสรีภาพ,การต่อสู้ในยุคเผด็จการทหารนับหลังจากรัฐประหาร 2490 จนถึงยุคของระบบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ นับตั้งแต่ปี 2501 เรื่อยมา (จรัญ โฆษณานันท์, 2545:519) ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ไทยจะให้การรับรองปฎิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2491 แต่แนวคิดสิทธิมนุษยชนแบบอุดมการณ์เสรีนิยมตะวันตกก็เติบโตอย่างเชื่องช้าในสังคมไทย ท่ามกลางบริบททางการเมืองที่ล้าหลังเป็นเผด็จการ แม้จะมีการต่อสู้และเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพอย่างเข้มข้น เช่นในช่วง หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังเหตุการณ์ 6ตุลาคม 2519ซึ่งต่อมาเรื่องของมนุษยชนเป็นปรากฏการณ์ความสนใจและมีการถกเถียงกันอย่างมาก จนกระทั่งมีการก่อตั้งคณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนขึ้นเพื่อศึกษากฎหมายหรือร่าง พ.ร.บ.ที่แย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือขัดต่อสิทธิมนุษยชน ทั้งปัญหาภายในและภายนอกประเทศ ในสมัยของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ แต่ก็ล้มเหลวเพราะความไม่ต่อเนื่องของอายุของสภาผู้แทนราษฎร และความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการทำงาน รวมทั้งเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองและแม้ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงครั้งสำคัญของไทย ซึ่งชัยชนะของประชาชนมีผลผลักดันสร้างสำนึกสิทธิมนุษยชนที่จริงจังในสังคมไทย และการสร้างกลไกต่างๆเพื่อป้องกันอำนาจเผด็จการทางทหาร และรัฐบาลของนายอานันท์ ปัณยารชุนได้บริหารประเทศได้นำประเทศเข้าสู่สมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง จนถึงการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับบปี 2540 ที่ดูจะเป็นความหวังของผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ไร้อำนาจที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งกลไกสำคัญของรัฐที่มีบทบาทในระดับหนึ่งในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ซึ่งยังมีอาชีพอื่นอีกที่ทำหน้าที่นี้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา เป็นต้น แต่ดูเหมือนรากเหง้าและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย อันเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ เช่น ระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบเผด็จการ อำนาจนิยม ระบบทุนนิยม หรือวิถีพัฒนาที่มิได้เอาความเป็นมนุษย์และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นที่ตั้ง วัฒนธรรมความเชื่อที่ล้าหลังจนก่อมายาคติผิดๆที่ไม่ศรัทธาคุณค่าความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียม เป็นผลให้เกิดความรุนแรงและสนับสนุนการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนจนฝังรากลึกมาถึงปัจจุบัน (จรัญ โฆษณานันท์, 2545:522-526) ดังจะกล่าวต่อจากนี้
4.สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
      เป็นที่แน่นอนและทราบกันดีอยู่แล้วว่าสังคมไทยปัจจุบันเน้นความสำคัญของภาคเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือระบบตลาดได้ครอบงำเศรษฐกิจโลก และภายใต้ระบบตลาดเศรษฐกิจทุนนิยมดังกล่าว ได้ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจในระบบตลาด ภายใต้เงื่อนไขของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นโดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นผลมาจากการพยายามก้าวไปสู่ความทันสมัย รัฐบาลได้ใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน เห็นได้จากการจัดการทรัพยากรในภาคอีสาน เช่น การประกาศเขตวนอุทยานกับที่ดินทำกินของชาวบ้าน การให้สัมปทานป่าแก่กลุ่มอิทธิพลภายนอกชุมชน ด้วยการส่งเสริมการปลูกพืชพาณิชย์และการพัฒนาอุตสาหกรรม (เสน่ห์ จามริก, 2546:35-40)
      ตัวอย่างหนึ่งของการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือ กรณีเขื่อนปากมูล ที่หลังจากการสร้างเขื่อนได้ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไป ระบบนิเวศที่ลุ่มน้ำมูลก็ถูกเปลี่ยนแปลง เกิดวิกฤตในการทำมาหากิน ชาวบ้านบางส่วนต้องอพยพไปใช้แรงงานที่อื่น จำนวนป่าลดน้อยลง ชาวบ้านจับปลาไม่ได้พอเพียงแก่การเลี้ยงชีพ ทั้งที่เมื่อก่อนระบบนิเวศนี้สมบูรณ์ ปลามีมากชาวบ้านจึงจับปลาขายและเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว (ชลธิรา สัตยาวัฒนา, 2546:154-164)
      นอกจากนี้แล้วยังมีกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆอีก เช่น การฆ่าตัดตอนปราบปรามยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ปัญหาการค้าประเวณี การก่อการร้าย และความยากจนเป็นต้นยังเป็นปัญหาของสังคมไทยจนปัจจุบัน
5.ข้อสรุปและเสนอแนะ
      เราคงจะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นมีความสำคัญมากจึงอยากให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นประเด็นที่ควรมุ่งศึกษาทำความเข้าใจในวงกว้างมากขึ้น โดยอิงอยู่กับพื้นฐานของความชอบธรรม เพราะในโลกของเรายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ในทุกมุมมองของโลกและสิทธิมนุษยชนนั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของคนทุกคนที่อยู่รวมกันในสังคม และยังเกี่ยวข้องกับ สังคม เศรษฐกิจและการเมือง เป็นพื้นฐานของหลักการที่มุ่งไปสู่ประชาธิปไตยและพัฒนาสังคมให้มีความสงบสุขและเจริญ หากว่ามนุษย์รู้จักและเข้าใจยอมรับและเคารพในสิทธิมนุษยชนของกันและกัน
      และกระทั่งปัจจุบันซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของคณะทหาร ที่เกิดจากจากการรับรัฐบาลทักษิณ โดยการรัฐประหารของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ (คมช.) และการดำเนินนโยบายแข็งก้าวในการปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น มีผู้เสียชีวิตและเสียหายทั้งฝ่ายรัฐ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ ผู้ก่อการร้าย สะท้อนปัญหาความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เป็นที่น่าสังเกตว่า สังคมไทยของเรากำลังมุ่งไปสู่วิถีทางแห่งสันติภาพในสิทธิมนุษยชนหรือจะย้อนกลับไปสู่เผด็จการ อำนาจนิยม ความล้าหลัง การละเมิดสิทธิมนุษยชนและเราจะไปสู่วิถีทางแห่งประชาธิปไตยและสร้างความสำนึกความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนได้จริงหรือ ?

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การพึ่งพาอาศัยกัน

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence)

            การพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence) ได้แก่ ความเข้าใจตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันของผู้คน ถิ่นฐาน เศรษฐกิจ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เข้าใจสภาวการณ์ในระดับโลก สามารถเรียนรู้ที่จะจัดการกับความซับซ้อนได้

การพึ่งพากัน 

            การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของประเทศต่างๆในด้านการรวมตัวเป็นองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจก็ เนื่องมาจากความมั่นคงและสวัสดิการของประเทศ ซึ่งการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้เพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็วในภาวะเศรษฐกิจที่มีการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และเน้นภาคธุรกิจหรือ ผลผลิตทางภาคอุตสาหกรรม ยิ่งกว่านั้น เมื่อกระบวนการผลิตใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ย่อมทำให้ สินค้าและบริการออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบการค้า มักจะถือกันว่าเป็นรูปแบบ ของกระบวนการ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจ อัตราส่วนของการค้าต่อผลิตภัณฑ์ มวลรวมประชาชาติ ขยายตัวมากขึ้นย่อมหมายถึงประเทศนั้น มีการพึ่งพิงระบบการค้า ระหว่างประเทศมากขึ้นด้วย ทำให้การเจริญเติบโตของประเทศต้องอาศัยการพึ่งพากันทางการค้า และการลงทุน ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ 

             ตลอดจนมีการแลกเปลี่ยน เทคโนโลยีและทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศสมาชิกในองค์กรได้รับผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆได้ เช่น ความร่วมมือกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว และได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มในด้าน การพึ่งพาอาศัยกัน เช่น แต่ละประเทศจะผลิตสินค้าหรือใช้ปัจจัยการผลิตที่ประเทศตนเอง สามารถผลิตได้ กล่าวคือ ประเทศไทยผลิตเกลือหินและโซดาแอช อินโดนีเซียและ มาเลเซียผลิตปุ๋ยยูเรีย สิงคโปร์ผลิตเครื่องยนต์ดีเซล และฟิลิปปินส์ผลิตปุ๋ยฟอสเฟต ซึ่งแต่ละประเทศมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ทำให้ส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวมากขึ้นด้วย ดังนั้นการพึ่งพาอาศัยกันในรูปของการร่วมมือทางเศรษฐกิจ ของแต่ละประเทศ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่าง จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด และองค์กรที่มีความเข้มแข็งสามารถต่อรองทางการค้ากับประเทศต่างๆได้

การอยู่ร่วมกันในสังคม             การอยู่ร่วมกันในชุมชนดั้งเดิมนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องไม่กี่ตระกูล ซึ่งได้อพยพ ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ หรือสืบทอดบรรพบุรุษจนนับญาติกันได้ทั้งชุมชน มีคนเฒ่าคนแก่ที่ชาวบ้าน เคารพนับถือเป็นผู้นำ หน้าที่ของผู้นำไม่ใช่การ สั่ง แต่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา มีความแม่นยำในกฏระเบียบประเพณีการดำเนินชีวิต ตัดสินไกล่เกลี่ยหากเกิดความขัดแย้ง ช่วยกันแก้ไข ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น"ผิดผี" คือ ผีของบรรพบุรุษ ผู้ซึ่งได้สร้างกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้ เช่น กรณีที่ชายหนุ่มถูกเนื้อ ต้องตัวหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน เป็นต้น หากเกิด การผิดผีขึ้นมา ก็ต้องมีพิธีกรรมขอขมา โดยมี คนเฒ่าคนแก่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษ มีการ ว่ากล่าวสั่งสอนและชดเชยการทำผิดนั้นตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้

            ชาวบ้านอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกัน ยามเจ็บไข้ได้ป่วย ยามเกิดอุบัติเหตุเภทภัย ยามที่โจร ขโมยวัวควายข้าวของ การช่วยเหลือกันทำงาน ที่เรียกกันว่า การลงแขก ทั้งแรงกายแรงใจ ที่มีอยู่ก็จะแบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรกัน การ แลกเปลี่ยนสิ่งของ อาหารการกิน และอื่น ๆ จึงเกี่ยวข้องกับวิถีของชุมชน ชาวบ้านช่วยกัน เก็บเกี่ยวข้าว สร้างบ้าน หรืองานอื่นที่ต้องการ คนมาก ๆ เพื่อจะได้เสร็จโดยเร็ว ไม่มีการจ้าง กรณีตัวอย่างจากการปลูกข้าวของชาวบ้านถ้าปีหนึ่งชาวนาปลูกข้าวได้ผลดี ผลิตผลที่ได้จะ ใช้เพื่อการบริโภคในครอบครัว ทำบุญที่วัด เผื่อแผ่ให้พี่น้องที่ขาดแคลน แลกของ และเก็บ ไว้เผื่อว่าปีหน้าฝนอาจแล้ง น้ำอาจท่วม ผลิตผลอาจไม่ดี


            ในชุมชนต่าง ๆ จะมีผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลาย บางคนเก่งทางการรักษาโรค บางคนทางการเพาะปลูกพืช บางคนทางการเลี้ยง สัตว์ บางคนทางด้านดนตรีการละเล่น บางคน เก่งทางด้านพิธีกรรม คนเหล่านี้ต่างก็ใช้ความ


สามารถเพื่อประโยชน์ของชุมชน โดยไม่ถือเป็น อาชีพที่มีค่าตอบแทน อย่างมากก็มี "ค่าครู"แต่เพียงเล็กน้อย ซึ่งปกติแล้ว เงินจำนวนนั้น ก็ใช้สำหรับเครื่องมือประกอบพิธีกรรม หรือ เพื่อทำบุญที่วัดมากกว่าที่หมอยาหรือบุคคลผู้นั้น


            จะเก็บไว้ใช้เอง เพราะแท้ที่จริงแล้ว "วิชา" ที่ ครูถ่ายทอดมาให้แก่ลูกศิษย์จะต้องนำไปใช้เพื่อ ประโยชน์แก่สังคม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ส่วน ตัว การตอบแทนจึงไม่ใช่เงินหรือสิ่งของเสมอไป แต่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยวิธีการต่าง ๆ 


ด้วยวิถีชีวิตเช่นนี้ จึงมีคำถามเพื่อเป็นการ สอนคนรุ่นหลังว่า ถ้าหากคนหนึ่งจับปลาช่อน ตัวใหญ่ได้หนึ่งตัว ทำอย่างไรจึงจะกินได้ทั้งปี คนสมัยนี้อาจจะบอกว่า ทำปลาเค็ม ปลาร้า หรือ เก็บรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่คำตอบที่ถูกต้อง คือ แบ่งปันให้พี่น้องเพื่อนบ้าน เพราะเมื่อ เขาได้ปลา เขาก็จะทำกับเราเช่นเดียวกัน
ชีวิตทางสังคมของหมู่บ้านมีศูนย์กลางอยู่ที่วัด กิจกรรมของส่วนรวมจะทำกันที่วัด งานบุญประเพณีต่าง ๆ ตลอดจนการละเล่นมหรสพ พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจ เป็นครูที่สอนลูก หลานผู้ชายซึ่งไปรับใช้พระสงฆ์ หรือ "บวชเรียน"


            ทั้งนี้เพราะก่อนนี้ยังไม่มีโรงเรียน วัดจึงเป็นทั้งโรงเรียนและหอประชุมเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ ต่อเมื่อโรงเรียนมีขึ้นและแยกออกจากวัด บทบาท ของวัดและของพระสงฆ์จึงเปลี่ยนไป
งานบุญประเพณีในชุมชนแต่ก่อนมีอยู่ทุก เดือน ต่อมาก็ลดลงไปหรือสองสามหมู่บ้านร่วมกันจัด หรือผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน เช่น งานเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นงานใหญ่ หมู่บ้าน เล็ก ๆ ไม่อาจจะจัดได้ทุกปี งานเหล่านี้มีทั้งความเชื่อ พิธีกรรมและความสนุกสนาน ซึ่งชุมชน แสดงออกร่วมกัน