วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความเป็นธรรม

ความเป็นธรรมในการจัดการน้ำท่วม” ข้อพิพาทของสังคมที่ยังไร้ทางออก
แม้ปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่จะเริ่มคลีคลายลงบางแล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. จากการนำ “บิ๊กแบ๊ก” มาทำคันกั้นน้ำขนาดใหญ่ใช้ชะลอน้ำให้เข้าเมืองน้อยลง เพื่อให้การระบายน้ำเมืองชั้นในทำได้เร็วขึ้น และหลายพื้นที่ก็จัดงาน “บิ๊กคลีนนิ่งเดย์” อย่างยิ่งใหญ่ประกาศชัยชนะ ขณะที่พื้นที่เหนือแนวคันกั้นน้ำและพื้นที่ด้านบน กทม.ที่ก่อนหน้านี้เคยร่วมทุกข์ร่วมสุข ถูกน้ำท่วมเหมือนกัน แต่กลับถูกลืม ซ้ำยังขยายเวลาความเดือนร้อนของประชาชนเพิ่มขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งของสังคมไทย ที่ต้องมาทะเลาะกัน เพราะความไม่เป็นธรรมในการแก้ปัญหาของรัฐบาลแท้ๆ โดยในงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง“ภัยพิบัติน้ำท่วมกับมิติใหม่ของสังคม”ได้สะท้อนปัญหาความไม่เป็นธรรมจากการแก้ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ได้ชัดเจนขึ้นหลายมิติ
โดย รศ.ดร.กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่าแม้ประเทศไทยจะประสบอุทกภัยครั้งใหญ่หลายครั้งหรือเกิดภัยแล้งก็ตาม แต่ทุกครั้งก็ยังเห็น ความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องของการแบ่งปันทรัพยากร ที่แก้ปัญหาอย่างไรก็ไม่เกิดความเป็นธรรม เช่นผู้ที่ใช้ทรัยากรมากก็คือผู้ที่มีกำลังทรัพย์มากกว่า แต่เราไม่เคยแบ่งปันให้เท่าเทียบกันกับผู้ที่มีกำลังทรัพย์น้อยกว่า ซึ่งสถานการณ์ปีนี้ยิ่งทำให้ภาพนี้ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพของการแบ่งปันทรัพยากรที่เท่าเทียมกันและไม่เท่าเทียมกัน ไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมของความเท่าเทียมกันเลย
“ที่ผ่านมามีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิในการใช้ทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นต้องคำนึงถึงผู้ที่อยู่อาศัยในท้องถิ่นนั้นๆ อย่างกรณีศึกษาจากแม่มูลมั่นยืน จากงานวิจัยไทบ้าน ซึ่งรัฐไม่เคยฟังเสียงของความพอดีพอเพียงจากประชาชนที่ไม่มีอำนาจ แม้กระทั้งขณะนี้รัฐก็ปล่อยให้น้ำท่วมขังบ้านเรือนประชาชนนานเกินสองเดือน และยังแก้ปัญหากันแบบมาก่อนลงที่หลัง ดังเช่น ชาวจ.ปทุมธานี นนทบุรี และชาวบางปะหัน และพื้นที่อื่นๆที่ถูกน้ำท่วมก่อน กทม. แต่น้ำลดลงที่หลังกทม.เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าความเป็นรูปธรรมของความเป็นธรรม มันอยู่ที่ไหนกันแน่”
โดยความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเท่าเทียมกัน รศ.ดร.กัมปนาท มองว่าต้องมีความเท่าเทียมใน 3 ด้าน คือ 1.ความเท่าเทียมด้านวิศวกรรม ที่ใช้เกณฑ์ด้านตึกรามบ้านช่องและสิ่งปลุกสร้างเป็นตัวชี้วัด เช่นถ้าชุมชนหนึ่งท่วมเท่านี้ และอีกชุมชนใกล้เคียงท่วมเท่านี้ได้ไหมหรือการแบ่งปริมาณน้ำระบายไปทางซ้าย 2 วัน อีก 2 วันระบายไปทางขวา เท่าๆกันได้หรือไม่  2.ความเท่าเทียมด้านเศรษฐศาสตร์ ที่ใช้เกณฑ์มูลค่าความเสียหายเป็นตัวชี้วัด คือดูว่าถ้าน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจจะเสียหายเท่าไหร และถ้าท่วมพื้นที่เกษตรแล้วอะไรเสียหายมากกว่ากัน และ 3.ความเท่าเทียมด้านสังคม ที่ใช้ความเป็นมนุษย์ ในแง่ของการมีสิทธิ์เท่าเทียมกันเป็นตัวชี้วัด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือรวยเราก็เท่าเทียมกัน ดังนั้น ในเรื่องของความเป็นมนุษย์ กรณีแก้ปัญหาน้ำท่วมจะมีการสลับสับเปลี่ยนกันน้ำท่วมบ้างได้ไหม ไม่ใช่คนรวยต้องแห้งอย่างเดียว แล้วคนจนต้องท่วมอย่างเดียว ความขัดแย้งของมวลชนก็จะเกิดขึ้นทันที อย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้
“ที่ผ่านมาปัญหามาจากการจัดการน้ำที่แยกส่วน เป็นตำบล อำเภอ จังหวัด ซึ่งในทางวิชาการเรื่องของการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ลุ่มน้ำก็ต้องจัดการลุ่มน้ำที่เชื่อมโยมกันทั้งหมดเป็นหลัก เช่น ปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก ท่าจีน ที่ถือเป็นหนึ่งลุ่มน้ำใหญ่ แต่ที่ผ่านมามีการแบ่งเขตลุ่มน้ำออกไปเป็นชิ้นๆ เช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วมเฉพาะกทม.ก็เป็นส่วนหนึ่ง การแก้ปัญหาของรัฐบาลก็ส่วนหนึ่ง และของกรมชลประทานก็อีกส่วนหนึ่ง จึงไม่ใช่สิ่งที่แก้ปัญหาได้จริง ดังนั้น ต้องมีรูปแบบองค์กรที่ชัดเจนร่วมกันทั้งหมดที่ต้องปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งระบบ โดยต้องให้ประชาชนในพื้นที่นั้นๆรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงในการแก้ปัญหาด้วย ความขัดแย้งจากมวลชนก็จะไม่เกิด”
ด้าน น.ส.สมลักษณ์ หุตานุวัตร ผู้ทำงานกลุ่มเครือข่ายสิทธิมนุษยชนและศูนย์อาสาฝ่าน้ำท่วม กล่าวถึง ความยุติธรรมที่ยังมีคนน้ำท่วมและมีการฉลองบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ว่า เป็นความอยุติธรรมที่สื่อมวลชลมีส่วนร่วม ในการทำให้เรื่องของความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างไม่ละอายแก่ใจ เพราะในความไร้น้ำใจที่สื่อมวลชนเองก็ไม่มีมนุษยธรรมของตัวเอง เพราะถ้าสื่อไม่ออกสื่อเรื่องขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น และความเจ็บแค้นของคนที่ยังแช่น้ำอยู่ก็จะไม่เกิดขึ้นด้วย ยังรวมไปถึงความไม่ยุติธรรมในการฟื้นฟูเยียวยาในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีโครงสร้างมากมายในการเข้าไปรองรับการกู้อุตสาหกรรม แต่ขณะนี้ก็ยังไม่ปรากฎการโครงสร้างในการกอบกู้ภาคเกษตรกรรมเลยแม้แต่นิดเดียวจึงกลายเป็นคำถามว่าความยุติธรรมอยู่ที่ไหน
“ การปล่อยให้ชาวประมงรายย่อยตามชายน้ำที่กำลังเน่าเสีย ชาวบ้านต้องสูญเสียอาชีพและหอยที่ชาวบบ้านเลี้ยงที่อ่าวไทยต้องตายเกลี้ยง โดยที่ชาวบ้านไม่มีโอกาสรู้ล่วงหน้า ไม่มีโอกาสเตรียมตัว มองว่าเป็นความอยุติธรรมของโครงสร้างสังคมไทยที่ถูกปล่อยปละละเลย ซึ่งเรายอมไม่ได้อีกแล้ว แม้แต่สื่อมวลชนก็มีน้อยมากที่จะให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และนี่คือความอยุติธรรมที่เราเห็นได้จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้”
ขณะที่ น.ส.กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิชีววิถี ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมามีโจทย์เรื่องการจัดสรรน้ำมาตลอด จนปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนว่า การให้ความยุติธรรมในเรื่องการจัดสรรน้ำกับภาคการเกษตรมีน้อยมากและให้ความสำคัญลำดับท้ายๆเพราะต้องถูกใช้ไปในส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม ขณะที่เกิดปัญหาอุทกภัยในการจัดสรรน้ำท่วม กลับให้ภาคการเกษตรเป็นพื้นที่รับน้ำท่วมก่อนใครทั้งๆที่พื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่กลับไม่ถูกปกป้อง
“ มองว่าปัญหาความขัดแย้งของชาวบ้านกับชาวบ้าน รัฐกับชาวบ้าน ชาวบ้านกับเอกชน บนคันกระสอบทราย หรือเขื่อนกั้นน้ำ เกิดจากความไม่ยุติธรรมในการจัดสรรคน้ำท่วมที่เน้นให้เมืองหลวงรอดพ้นภัยพิบัติ ทั้งๆเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำ แต่ก็ยังมีการก่อสร้างอะไรมากมาย มากระจุกตัวจนขวางทางน้ำ เพียงเพราะต้องการให้เป็นเมืองท่า อย่างเช่น เอานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาตั้ง สร้างศูนย์โลจิสติก แม้แต่อุทกภัยครั้งนี้ก็สร้างเขื่อนล้อมตัวเองและเอาน้ำไปให้พื้นที่อื่น ซึ่งหมายถึงพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเป็นปัญหาจากการจัดน้ำหนักในการดูแลพื้นที่ที่ต่างกัน”
โดยเธอยังบอกอีกว่า เหตุการณ์น้ำท่วมแม้จะมีปัญหาความไม่เป็นธรรมต่อภาคการเกษตร แต่ก็อาจทำให้คนเริ่มเข้าใจมากขึ้น ถึงเรื่องของความมั่นคงทางอาหาร หลังจากเคยมีการพูดถึงแต่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นแล้วกับประเทศไทยในยามวิกฤติที่คนมีเงินก็หาซื้อไม่ได้ อย่างเช่นน้ำดื่มและอาหารแห้งต่างๆ ที่ถูกกักตุนจนบางพื้นที่ขาดแคลน แม้ว่าน้ำจะยังไม่ท่วมก็ตาม และเมื่อศูนย์การกระจายอาหาร 6 บริษัทใหญ่ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วมก็เหมือนเป็นการตัดสายพานขนส่งอาหารกว่า 90 % ถูกส่งต่อมายังห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทำให้สิ้นค้าขาดแคลน แต่ถ้ายังมีร้านโชว์หวยเล็กๆตามจุดต่างๆก็เชื่อว่าร้านค้าเหล่านี้ก็จะมีบทบาทมากขึ้น สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมในแง่ของเศรษฐกิจที่ผูกขาดสินค้าไว้กับรายใหญ่ๆ
“ในการแก้ปัญหาจากน้ำท่วม รัฐบาลต้องวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาให้ชัดเจนจึงจะสามารถกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาได้ แต่ครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานต่างๆภายใต้รัฐบาล ทำงานไปคนละทิศคนละทาง และยิ่งนานวันก็ยิ่งแก้ปัญหาไม่ได้ เมื่อแก้ไม่ได้ ก็ตั้งองค์กรใหม่มาแก้ปัญหาน้ำท่วมเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ต่างคนต่างคิดทำงานกันไปคนละเรื่อง นานวันก็ยิ่งบานปลาย เช่นบอกว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมกทม. แต่กลับไม่เคยพูดถึงบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ด้านบน ที่แช่น้ำนานเป็นเดือนๆ ชาวบบ้านถูกน้ำท่วมก็ว่าเลวร้ายแล้ว แต่ยังมีความขัดแย้ง ความคับแค้นใจมาซ้ำเติมปัญหาให้แย่ไปอีก”
แม้เสียงจากความไม่เป็นธรรมจะถูกพูดถึงและถูกทวงถามจากประชาชนที่ยังได้รับความเดือนร้อนจากน้ำท่วมจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่รัฐบาลต้องมองปัญหานี้ให้ทะลุปรุโปร่ง ในหลายมิติมากขึ้นไม่ใช่เพียงต้องการแก้น้ำท่วมด้วยการทำให้บางพื้นที่มีน้ำแห้งเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบสืบเนื่องอื่นๆอีกมากมาย ที่สังคมไทยยังต้องการทางออก และยังรอค่อยคำตอบนี้อยู่ !!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น